Writing is That Easy: เขียนภาษาอังกฤษ…มันง่ายอย่างงั้นแหละ

เคล็ดลับ 5 ข้อ พิชิตการเขียน

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเขียนบทความหรือเขียนเรียงความในภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบทางการ (Formal) หรือว่าไม่เป็นทางการ (informal) ก็เป็นทักษะที่สำคัญมากๆ สำหรับบุคคลในยุคปัจจุบันที่มีการเข้าถึงของเทคโนโลยีที่เชื่อมโลกของเราทั้งใบไว้ด้วยกัน แต่…เราจะเขียนยังไงล่ะ ไม่ให้โป๊ะ ให้มีความเป็นมืออาชีพ และแสดงให้เห็นว่าเราเองก็มีทักษะทางการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีนะ!?

ทุกอย่างต้องเริ่มต้นขจากการเรียนรู้ทั้งนั้น บทความนี้จะเป็นหนึ่งในเคล็บลับเล็กๆ น้อยๆ ให้ทางผู้ที่กำลังตั้งใจศึกษาภาษาอังกฤษในด้านทักษะต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเขียน ได้ซึมซับและนำไปพัฒนาการเขียนของตน เคยสงสัยหรือไม่ว่า การเขียนที่ดีต้องทำอย่างไร การเขียนที่มีหลักการและเข้าใจง่ายควรเป็นเช่นไร… เรามาหาคำตอบที่นี่กันเถอะ

  1. Format / Structure: โครงสร้างสำคัญมากนะ

สำหรับการเขียนไม่ว่าจะเป็นทางวิชาการ หรือการเขียนอีเมล์เพื่อติดต่อกับเพื่อนร่วมงาน เราจำเป็นที่จะต้องรู้องค์ประกอบและโครงสร้างของการเขียนชนิดนั้นๆ ในภาษาอังกฤษ การเขียนแต่ละประเภท มีโครงสร้างที่แตกต่างกัน อย่างที่เราคุ้นเคยกันหลักๆ อาจจะมี 3 ส่วน Introduction/ Body/ Conclusion แต่ในการเขียนที่แตกต่างกัน 3 ส่วนนี้อาจจะเป็นเพียงแค่โครงสร้างหลักที่มีโครงสร้างอื่นเข้ามาประกอบด้วย อย่างตัวอย่างเช่น ในการเขียนอีเมล์ ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาได้ จะต้องมีการ greeting ก่อน (เช่น Dear John, / Dear Professor Roland,) และเมื่อจบเนื้อหา จะต้องมีตัว closing ตามท้าย (เช่น Sincerely yours, / Best Regards, ) และถามด้วยชื่อของผู้ส่งนั่นเอง ในขณะที่การเขียนบทความหรือเรียงความ อาจจะเริ่มต้นด้วยบทนำและเข้าสู่เนื้อหาพร้อมสรุปจบตอนท้ายได้เลย

  1. Outlines: ร่างเรื่องได้ มีชัยไปกว่าครึ่ง

พอเรารู้แล้วว่าการเขียนที่เราต้องทำคืออะไร อย่างแรกที่เราต้องทำคือร่างไอเดียคร่าวๆ ขึ้นมาว่า เราต้องการที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษ การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เรามองเห็นภาพกว้างมากขึ้น และตามหาคำศัพท์ที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ประกอบงานเขียนของเราได้ วิธีการวางโครงเรื่องหรือ outline มีหลายประเภท แต่ประเภทที่นิยมหลักๆ คือการเขียนเป็น bullet point วางเป็น topic และ sub-topic ไป

  1. Grammar: แกรมม่า…รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม

คนเราเรียนภาษาอังกฤษมา จะชอบมีคนพูดเสมอว่า แกรมม่าท่องจำไปทำไม ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น นั่นเป็นเรื่องจริง แกรมม่าอาจจะไม่ได้สำคัญขนาดนั้นในบางทักษะ เช่น ในการติดต่อสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ การส่ง chat massage หรือการสนทนากับเพื่อน แต่เมื่อการเรียนภาษาอังกฤษของคุณก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งของความเชี่ยวชาญ การติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ (formal) จำเป็นที่จะต้องใส่ใจในความถูกต้องของการใช้แกรมม่าพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อการติดต่อสื่อสารนั้น เป็นการติดต่อเชิงธุรกิจ หรือเป็นการเขียนบทความเชิงวิชาการ เราจะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง

ซึ่งในปัจจุบัน การตรวจสอบแกรมม่าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เราไม่จำเป็นต้องมานั่งเปิดตำราหรือเสิร์ชอินเทอร์เน็ตไปทีละประโยคอีกต่อไป เมื่อมีหลายๆ เว็บไซต์ ให้บริการเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความถูกต้องของแกรมม่าที่เราสามารถไปใช้บริการออนไลน์ได้ทั้งฟรีและเสียค่าธรรมเนียมรายเดือนหรือรายปี สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งความสะดวกสบายและความก้าวหน้าของยุคนี้

  1. Word Choice: การเลือกใช้คำ ใครว่าไม่สำคัญ

หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาว่า ภาษาอังกฤษไม่มีคำสุภาพหลากหลายระดับเหมือนภาษาไทย ที่มีทั้งคำราชาศัพท์ คำระดับสุภาพต่างๆ แต่นั่นเองก็ไม่ได้หมายความว่า ภาษาอังกฤษไม่มีการใช้คำที่ระดับสุภาพขึ้นมา ดังนั้น ในงานเขียนทุกประเภท เราต้องคำนึงถึงการเลือกใช้คำให้ดีว่าเราต้องการให้สิ่งที่เราสื่อออกไปมีความหมายในระดับไหน เช่น การใช้คำว่า “very” หรือ “really” ในงานเขียนของเราที่บ่อยเกินไป ในเฉพาะการเขียนเชิงวิชาการหรือเป็นทางการ มันสามารถทำให้งานเขียนของเรานั้นดูไม่มีความเป็นมืออาชีพได

  1. Revise & Rewrite: อ่านทวนให้ดีก่อนกดส่ง!

พอเขียนเสร็จแล้ว หลายๆ คนคงใจร้อนหลังจากใช้พลังงานทั้งหมดไปกับการเขียนและกดส่งทันที เราขอแนะนำว่า นั่นเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงมากๆ ทุกครั้งหลังจากเขียนเสร็จแล้ว หากเป็นข้อความอีเมล์หรือบทความสั้นๆ ควรอ่านทวนอีกรอบทันทีเพื่อตามหาจุดผิดพลาด ในเรื่องของการใช้คำ การสะกดคำ แกรมม่า และโครงสร้างในภาพรวม การไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนส่ง นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว อาจจะทำให้เราดูกลายเป็นคนสะเพร่าได้ในทันที เพราะฉะนั้น เผื่อเวลาสัก 5 นาทีเพื่ออ่านทวนอีกรอบก็ดีนะ

หรือถ้าเป็นบทความวิชาการ เรียงความส่งอาจารย์ หรือเนื้อหาทางการสำคัญๆ นอกจากที่เราจะอ่านทวนและตรวจสอบแล้ว เรายังต้องดูด้วยว่างานเขียนที่เราเขียนนั้นมีใจความตรงกับที่เราต้องการสื่อสารหรือไม่ และนอกเหนือจากนี้ เรายังตรวจสอบในหลายๆ อย่าง เช่นการอ้างอิงในบทความ การตรวจสอบเนื้อหาเพื่อให้มั่นใจว่าเราไม่ได้ไปลอกเลียนผลงานของคนอื่นมาโดยไม่ให้เครดิต เราอาจจะนำเอาบทความของเราไปใส่ในเว็บไซต์สำหรับตรวจ Plagiarism โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการคล้ายคลึงของผลงานโดยไม่ได้ตั้งใจนั่นเอง

หากคุณเองก็เป็นหนึ่งในผู้ศึกษาและกำลังพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ จำเคล็บลับเหล่านี้ไว้ให้ขึ้นใจ เพื่อลับคมและพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของคุณต่อไปนะคะ การเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือการเรียนรู้โดยมีครูผู้สอน ไม่ว่าจะอย่างไรเป็นผลประโยชน์ต่อตัวเราเองทั้งสิ้น การลองผิดลองถูกเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้ แต่ถ้าหากต้องการความช่วยเหลือเมื่อไหร่ สามารถติดต่อเราได้เสมอ

จากใจ ทีมงาน Chulatutorfornong